Koungwhal Thongnetra

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่คลังปัญญา (ปัญญาคือแสงสว่าง ส่องทางชีวิต )123EE.BLOGSPOT.COM

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

ศาสนาใดดีที่สุด


ถ้ามีใครซักคนมาบอก เราว่า ศาสนาที่เขานับถืออยู่ ดีกว่าศาสนาที่เรานับถือ คงไม่ต้องถามว่าเราจะมีความรู้สึกอย่างไร

  • สำหรับผมศาสนาเกิดจากปัญญาของศาสดาในแต่ละศาสนา คงไม่ถูกต้องหากมีใครมาบอกว่า ปัญญาของศาสดาคนนั้นเท่านั้นดี คนนี้ไม่ดี


  • การศึกษาศาสนาสำหรับผมในเบื้องต้นคือ ศึกษาเพื่อรู้ เพื่อที่จะรู้ว่า เขาสอนอะไรในแต่ละศาสนา หลักธรรมที่เป็นแกนของศาสนานั้นคืออะไร แล้วเราสามารถนำหลักธรรมเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตเราได้หรือไม่ โดยที่ไม่เลือกว่าเป็นศาสนาใด แต่ผมเลือกทุกอย่างที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งดีเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของผม


ผมนับถือศาสนา แต่ไม่ได้คลั่งศาสนา ผมนับถือศาสนา ไม่ใช่ ยึดถือศาสนาดังนั้นสิ่งไหนดีผมก็เลือกผมก็หยิบเอา

  • ถ้าเปรียบ ศาสนาพุทธ เป็นเหมือน เพชร
  • ถ้าเปรียบศาสนาคริสต์ เป็นเหมือน ทับทิม
  • ถ้าเปรียบศาสนาอิสลามเป็นเหมือน โกเมน
  • ถ้าเปรียบศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เป็นเหมือน ทองคำ
  • ถ้าเปรียบศาสนาเชนและซิกส์ เป็นเหมือน บุษราคัม


เมื่อศาสนาต่างๆเป็นเหมือนดั่งอัญมณีที่ล้ำค่าเหล่านี้  คนโง่เท่านั้น ที่จะเลือกหยิบเอาแต่เพชร หรือทอง
คนโง่เท่านั้นที่เลือกหยิบเอาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วทิ้งอัญมณีล้ำค่าอื่นไว้โดยไม่แตะต้อง

คนฉลาดย่อมเลือกที่จะเก็บเอาอัญมณีทั้งหมดติดตัวกลับไป เพราะนั่นคือสิ่งที่มีค่า เพราะเห็นในคุณค่าของอัญมณีเหล่านั้น

ชีวิตคนเรา สำหรับผมมีความหมายถึง การเดินทางไกล ตั้งแต่เกิดถึงตายมนุษย์เราสามารถอยู่ได้นับร้อยปี โดยประมาณ ช่วงเวลาที่ยาวนานนี้ 
  • ถ้าเราไม่มีเพื่อนร่วมทาง
  •  ถ้าเราไม่มีเสบียงในการเดินทาง 
  • ถ้าเราไม่มีความรู้ในการเดินทาง
  • ถ้าเราไม่มีเข็มทิศนำทาง
การเดินทางไกลของเราก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ
อุปสรรคน้อยใหญ่มากมายที่มันจะประเดประดังซัดถาโถมเข้ามา
ถ้าเราไม่เตรียมตัวให้พร้อม เราย่อมพ่ายแพ้ให้แก่มัน

  • ถ้าเครื่องมือดับทุกข์ในศาสนาพุทธ เป็น เกวียน
  • ถ้าเครื่องมือดับทุกข์ในศาสนาคริสต์ เป็น  เรือ
  • ถ้าเครื่องมือดับทุกข์ในศาสนา อิสลาม เป็น  อูฐ
  • ถ้าเครื่องมือดับทุกข์ในศาสนา พราหมณ์ -ฮินดู เป็น ตัวล่อ

ในฐานะคนที่กำลังจะเดินทางไกลนับร้อยปี ผมจะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ผมจำเป็นต้องเลือกเอาไปด้วยทั้งหมด

  • เมื่อผมเดินทางราบยาวไกล ผมอาจต้องใช้ เกวียน เป็นเครื่องมือ เป็นพาหนะในการเดินทาง 
  • แต่เมื่อใดที่ผมเดินไปถึงริมฝั่งแม่นำใหญ่ กว้าง ลึก ยาว ไกล ที่เกวียน ไม่สามารถเดินทางไปต่อได้ผมก็จำเป็นต้องใช้ เรือ ในการพาผมข้ามแม่น้ำนั้น เพื่อพาผมไปยังอีกฟากฝั่งแม่น้ำ
  •  เมื่อขึ้นถึงฝั่ง เป็นขุนเขารกร้าง สูงชัน ผมก็จำเป็นต้องใช้ ตัวล่อ เพื่อให้มัน ลำเลียงขนเสบียงของผมที่นำติดตัวมา พาผมเดินหน้าสู่เป้าหมายต่อไป
  • และเมื่อหลุดพ้นขุนเขากันดาร ก็เป็นทะเลทรายที่แสนกว้างไกล แห้งแล้ง เต็มไปด้วยอันตรายสารพัดแน่นอนเมื่อผมมีพาหนะคือ อูฐ อยู่ ผมก็จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้ อูฐ พาผมเดินข้ามทะเลทราย อันกว้างใหญ่ ไพศาลไปหาเป้าหมายให้ จงได้

เราจะเห็นว่า พาหนะเราแต่ละอย่าง ไม่มีสิ่งใด ดีกว่า หรือ ด้อยกว่ากันเลย หากแต่มันขึ้นอยู่กับเหตุ ปัจจัย ในระหว่าง การเดินทาง และเราเลือก หยิบมาใช้ ให้มันถูกกับสถานการณ์ มันก็จะเป็นประโยชน์ กับเรา

  • มนุษย์เรา ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมา ให้เลือกกิน เฉพาะ ข้าว
  • มนุษย์เรา ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมา ให้เลือกกินเฉพาะ  ขนมปัง
  • มนุษย์เรา ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมา ให้เลือกกินเฉพาะ  โรตี

มนุษย์ที่ฉลาด ย่อมรู้ว่าอาหารทุกอย่างล้วนมีประโยชน์ต่อชีวิตเรา เมื่อเราหิว เมื่อ อดโซ คนฉลาด ย่อมรู้ว่า ทั้ง ข้าว ขนมปัง และ โรตี ยังชีวิตให้เราได้

  • นักโภชนาการสมัยใหม่ บอกว่า มนุษย์เรา จะอยู่ได้อย่างแข็งแรง ต้องกิน อาหารหลัก 5 หมู่ จึงจะทำให้ร่างกายของแรา แข็งแรง สมดุล

ในเมื่อในโลกนี้ มีนักโภชนาการได้สร้างอาหาร ไว้ให้เราครบแล้วทั้ง 5 หมูคือ

หมู่ที่ 1 พุทธ
หมู่ที่ 2 คริสต์
หมู่ที่ 3 อิสลาม
หมู่ที่ 4 พราหมณ์ - ฮินดู
หมู่ที่ 5 เชน และซิกส์

แล้วทำไมมนุษย์ที่ฉลาดต้องกินอาหารเพียงหมู่เดียว
เมื่อพูดถึงตรงนี้ ก็คงมีคนถามผมว่า ถ้าอย่างนั้น ผมก็เป็นคนไม่มีหลักในการดำเนินชีวิตละสิ
ผมก็ตอบได้ทันทีว่า ผมมีหลักในการดำเนินชีวิต
หลักของผมก็คือ เก็บเกี่ยวเอาแต่สิ่งดี มีประโยชน์ ติดตัวไป เพื่อให้ผมอยู่รอดได้จนถึงเป้าหมาย โดยที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน  ก็ผมบอกแล้วว่า ผมนับถือศาสนา ผมไม่ได้ ยึดถือ ศาสนา หรือ คลั่ง ศาสนา

  • พระพุทธองค์ สอนให้ ละชั่ว ทำดี ใช้หลักเหตุผล กาลามสูตร และทรงไม่ให้หลงไปกับ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ใดๆทั้งสิ้น พระองค์สอนให้คนรู้จักคิดหาเหตุผล พระองค์ เป็นนัก จาริก เป็นนักปฏิวัติสังคม
พระองค์ทรงย้ำไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แม้แต่ตัวพระองค์เอง พระองค์ทรงให้ พุทธบริษัท 4 ยึดถือ คำสอนหรือพระธรรมแทนพระองค์

แต่พอสิ้นพระองค์แล้ว พุทธบริษัท 4 ทั้งหลาย กลับไปยึดถือ เอา เครื่องปั้น ดินเผา เอามาเป็น สรณะ ยึดเอา อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นเครื่องค้ำชูใจ แทนคำสอนพระองค์ ยึดถือเอาคำสอนหลวงปู่ หลวงตา จนแยกเป็น ก๊ก เหล่า โดยไม่อ้างอิงพระธรรมคำสอนของท่าน

  • เช่นเดียวกับ ท่าน นบี มะหะหมัด ท่านเป็นทั้งนักการศาสนา เป็นนักรบ เป็นนักการเมือง เป็นนักปกครอง เป็นนักปฏิวัติสังคม เมื่อสมัยท่านยังมีชีวิต ท่านได้ปฏิวัติความเชื่อของคนที่มีเศรษฐี เป็นเจ้าของ หิน กาบา และหาประโยชน์จากการเก็บกินค่าเข้าชม สักการะ จนภัยมาถึงท่าน
  • สิ่งที่ท่านสร้างขึ้นมา ผมเชื่อโดยสนิทใจว่า ไม่ใช่ ของพระเจ้า ที่ไหน แต่เป็นคำสอนของท่าน มนุษย์ธรรมดาๆนี่เอง ที่ท่านได้เล็งเห็น เป้าหมายของมนุษย์ จึงนำพามนุษย์มายังเส้นทางที่ท่านเห็นว่าถูกต้อง และควรเป็น แม้แต่การสอนให้เสียสละ (ซากาต ) ท่านระบุเสียด้วยซ้ำว่าให้มุสลิมสละทรัพย์ของตนเองบริจาคให้เพื่อนมนุษย์โลก เป็นอัตราส่วนตามรายได้ของตนเอง


แต่พอสิ้นท่านแล้ว มีมุสลิมกี่คนที่ยึดตามหลักปฏิบัติของท่านอย่างจริงจัง  

หรือแม้แต่ เจ้าพิธี กรรม อย่าง พราหมณ์ ที่เน้นการบวงสรวง สังเวย ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็น ฮินดู ผู้ละเว้นชีวิตสัตว์ มีหลักอาศรม 4 ซึ่งเป็นหลักยึดที่ดี ใน พราหมณ์ เป็นต้น

หรือแม้แต่ ศาสนา ยูดาย ของ โมเสส ที่เป็นต้นตอ เป็นต้นทาง ของทั้ง คริสต์ และ อิสลาม ก็มีหลักยึด หลักปฏิบัติ ที่ต้องการให้คนหลุดพ้น ถึงแม้จะแตกต่างทางวิธีการ รูปแบบ แต่เป้าหมายก็คือ การหลุดพ้น การไปถึงเป้าหมายที่ดีสูงสุด เหมือนกัน


  • ดังนั้นถ้าจะมีใคร มาถามผมว่า แล้วนับถือศาสนาใดจึงจะดีที่สุด 
  •  คำตอบของผมก็คือ ให้คุณกลับไปที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ที่คุณคิดว่าดีที่สุด ในโลกนี้ แล้วน้ำสะอาดมาดื่มสักแก้วยามคุณหิว
  • แล้วก็ไปที่ไหนซักแห่งที่คุณคิดว่า เลวร้ายที่สุดในโลก แล้วหาน้ำสะอาดของที่นั้นมาดื่มซักแก้วยามคุณหิว


ถ้าคุณได้คำตอบว่า น้ำทีไหน เวลาหิว ดื่มแล้วก็มีประโยชน์เท่ากัน รสชาติเหมือนกัน ไม่ว่า ดื่มในที่เจริญ หรือดื่มในที่ กันดาร ประโยชน์ของน้ำไม่ได้แตกต่างกันเลย คุณก็ไม่ต้องถามผมว่า ศาสนาใดดี

เพราะนั่นคือคำตอบ และหลักปรัชญาชีวิตของผม ที่ผมค้นพบ ว่าเป็นเรื่องจริง ที่ผมยึดเป็นหลัก





กังวาล  ทองเนตร 


การเดินทางอันยาวไกล



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น