Koungwhal Thongnetra

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่คลังปัญญา (ปัญญาคือแสงสว่าง ส่องทางชีวิต )123EE.BLOGSPOT.COM

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

คำสั่งทางปกครองคืออะไร


คำสั่งทางปกครองคืออะไร

ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาตรา 5 (1)

  • คำสั่งทางปกครอง หมายความว่า

(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวร หรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ


ดังนั้นผู้ที่จะออกคำสั่งทางปกครองได้ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่เท่านั้น 

  • เจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.นี้หมายถึงบุคคล คณะบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบหรือให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตามวรรคนี้ จึงมีอยู่ 2กรณีคือ
  1. บุคคลและคณะบุคคล (หมายถึงคนเดียวหรือเป็นคณะก็ได้ )
  2. นิติบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลสมมุติตามกฎหมาย
  • การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้จึงแบ่งออกเป็น 2 แนวทางด้วยกันคือ
  1. ใช้อำนาจโดยตรงตามที่ตนเองมีอยู่ตามกฎหมาย เช่นการรับรอง การอนุมัติ การอนุญาต การสั่งการการรับจดทะเบียน การวินิจฉัยอุทธรณ์ ทั้งหมดนี้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้  แต่ก็มิได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนจะมีอำนาจเท่ากันและใช้คำสั่งทางปกครองได้ทุกคนเท่ากัน
  2. ใช้อำนาจโดยการได้รับมอบอำนาจ หมายถึง โดยตัวเองแล้วไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งทางปกครองนั้นเลย แต่ได้รับมอบอำนาจจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจมอบหมายให้ใช้อำนาจ เช่น สถานที่ตรวจสภาพรถเอกชน ซึ่งไม่มีอำนาจโดยตนเองแต่ใช้อำนาจทางปกครองโดยได้รับมอบ หรือสภาทนายความ แพทยสภา เป็นต้น
  • และในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้มีคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน โดยให้คณะกรรมการนี้มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 11 มีทั้งสิ้น 6 วงเล็บ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการตาม พ.ร.บ.นี้ รวมถึงเรียกเจ้าหน้าที่มาชี้แจงตามที่บุคคลร้องขอได้รวมถึงเสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามกฎหมายนี้ด้วย

  • ดังนั้นเมื่อมีข้อสงสัยสำหรับเจ้าหน้าที่ว่าตนเองมีขอบเขตอำนาจมากน้อยเพียงใดหรือไม่ก็สามารถยื่นขอคำปรึกษากับคณะกรรมการชุดนี้ได้ ตามมาตรา 11 (2 )

ในส่วนของคณะกรรมการก็สามารถเรียกบุคคลทั่วไป หรือเจ้าหน้าที่ โดยให้คณะกรรมการมีหนังสือเรียกมาชี้แจงได้ ตามมาตรา 11 (3)

นอกจากนี้การทำคำสั่งทางปกครองกฎหมายยังตีกรอบให้แคบเข้ามาอีกตามมาตรา 12
  • มาตรา 12 คำสั่งทางปกครองจะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจในเรื่องนั้น
หมายความว่าการทำคำสั่งทางปกครอง ถึงแม้ว่าเราจะมีอำนาจ แต่ถ้าไม่มีอำนาจในเรื่องนั้นๆ เราก็ไม่สามรถทำคำสั่งทางปกครองได้ ตาม มาตรา 12 นี้

และในมาตรา 13แห่ง พ.ร.บ.นี้ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่จะทำการพิจารณาทางปกครองต้องมีหรือไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา 13 นี้

  • มาตรา 13เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะกระทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้
(1)   เป็นคู่กรณีเอง
(2 ) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
(3)  เป็นญาติของคู่กรณีคือเป็นบุพการีหรือเป็นผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ หรือเป็นพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้นหรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
(4 )  เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์ หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
(5 )  เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี
(6 )  กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

  • และข้อห้ามอื่นสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะพิจารณาทางปกครอง กำหนดไว้ในมาตรา 16
ข้อยกเว้นตามมาตรา 13-16

*** แต่คุณสมบัติห้ามตามมาตรา 13นี้ ก็มีข้อยกเว้น หมายถึงถ้าเป็นบุคคลตามเงื่อนไขห้ามตาม 6 วงเล็บนี้ ก็สามารถพิจารณาทางปกครองได้ ถ้าเข้าตามเงื่อนไขตามที่กฎหมายยกเว้นไว้โดยกฎหมายจะกำหนดข้อยกเว้นไว้ในมาตรา 18
  • มาตรา 18 บทบัญญัติในมาตรา 13ถึงมาตรา 16ไม่ให้นำมาบังคับใช้กับกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ หรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้
และในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.นี้ยังกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะพิจารณาทางปกครองได้ ตามความในมาตรา 22 นี้

  • ส่วนคู่กรณี ระบุไว้ในมาตรา 21 และคู่กรณีสามารถแต่งตั้งให้บุคคลกระทำการแทนตนเองได้ ตามมาตรา 23
ในการพิจารณา

เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิ แจ้งกระบวนการพิจารณาต่างๆให้คู่กรณีทราบ ตามความในมาตรา 27ดังนี้
  • มาตรา 27 ให้เจ้าหน้าที่แจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบตามความจำเป็นแก่คู่กรณี
กรณีทำคำสั่งทางปกครองกระทบสิทธิของคู่กรณี
  •  เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริง ตามมาตรา 30 ทั้งหมด 6 วงเล็บ
รูปแบบการทำคำสั่งทางปกครอง

  • มาตรา 34 คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือวาจาหรือการสื่อความหมายในรูปแบบอื่นก็ได้ แต่ต้องมีข้อความหรือความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้

การสิ้นอายุของคำสั่งทางปกครอง

  1. สิ้นอายุตามเงื่อนไขเวลาตามที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในคำสั่งนั้น
  2. ถูกเพิกถอนคำสั่ง อาจโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งหรือ คำสั่งศาลปกครอง ตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ.2542
  • สรุปการใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ เป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามที่กล่าวมาแล้วแต่ต้น 
  • ส่วนคู่กรณีสามารถใช้สิทธิ ตามช่องทางที่กฎหมายเปิดไว้ให้ได้ และกรณีอุทธรณืให้อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง ภายใน 15 วั นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
กรณีที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองมีหลักเกณฑ์พิจารณาดังนี้
  1. เป็นผู้เสียหายโดยตรงตามมาตรา 42 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542
  2. ใช้สิทธิตามกฎหมาย จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542
  3. ใช้สิทธิตามมาตรา 9 (1 ) หรือ (1)-(6)
  4. พิจารณาว่า คู่กรณีหรือคู่พิพาทเข้าตามกฎเกณฑ์ที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองหรือไม่
  5. ร้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือกำหนดเงื่อนไข เพิกถอนกฎ คำสั่ง หรือื่นๆตาม มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง
คู่กรณีที่เข้าข่ายเป็นคดีพิพาททางปกครองมี 5 คู่ดังนี้
  1. หน่วยงานทางปกครอง พิพาทกับ หน่วยงานทางปกครอง
  2. หน่วยงานทางปกครอง  พิพาทกับ เจ้าหน้าที่
  3. หน่วยงานทางปกครอง  พิพาทกับ  เอกชน
  4. เจ้าหน้าที่  พิพาทกับ เจ้าหน้าที่
  5. เจ้าหน้าที่ พิพาทกับ  เอกชน
หมายเหตุ
  • คดีที่จัดว่าเป็นคดีทางปกครอง คู่พิพาทต้องเข้าตามหลัก 5 กรณีนี้เท่านั้น จะไม่มี เอกชน พิพาทกับเอกชน ซึ่งไม่เข้าข่ายคดีทางปกครองตาม พ.ร.บ.นี้

กังวาล  ทองเนตร ภาควิชาการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

กศน.ความสำเร็จบนความล้มเหลวของการศึกษาไทย



กศน.หรือการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน
เป็นทางเลือกหลัก หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นฟางเส้นสุดท้าย หรือโอกาสสุดท้ายทางการศึกษา
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และสำหรับเรียนนักศึกษา ที่ถูกผลักดันโดยครู หรือโดยโรงเรียนในระบบ ด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ

  • กศน.จึงเปรียบเสมือน ฟางเส้นสุดท้ายของชีวิตจริงสำหรับคนไทย เพราะถ้าเราจบ มัยมต้นจากโรงเรียน ในระบบมา แต่ถูกผลักดันให้ออกจากโรงเรียน ในชั้น มัธยมปลาย ชีวิตการศึกษาเราก็จะขาดช่วงทันที


นั่นหมายถึงว่าเราไม่มีโอกาสที่จะก้าวไปสู่ในระดับที่สูงขึ้นหรือระดับอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยได้เลย เพราะความรู้เราขาดตอน ขาดช่วง มัยมศึกษาตอนปลายหรือ ม.6

  • ดังนั้น กศน.จึงเป็นประตูสำคัญที่จะทำให้เราได้มีโอกาส ต่อยอดทางการศึกษา ได้ต่อยอดทางชีวิตหน้าที่การงาน ให้สูงขึ้นได้ เปรียบเสมือนเป็นการ อัพเลเวลทางสังคมของตนเองให้สูงขึ้นนั่นเอง


การศึกษา ทำให้คนเรา เท่าเทียมกัน หรืออาจทำให้คนเราต่างกันก็ได้ในขณะเดียวกัน กล่าวคือ ถ้ามีเราการศึกษาเท่ากัน หรือใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้สถานะทางสังคมของเราแต่ละคนไม่ห่าง หรือแตกต่างกันมากนัก

  • เมื่อเรามีการศึกษาไม่เท่ากัน ก็จะทำให้เรามีความเหลื่อมล้ำกันทางสังคมตามไปด้วย เช่น

ถ้าเราจบการศึกษาในระดับที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เรา ทำงานที่แตกต่างกันตามไปด้วย เมื่องานมีลักษณะต่างกัน ก็จะทำให้รายได้ของคนเราแตกต่างกัน เมื่อรายได้แตกต่างกัน ก็จะส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ หรือกินดีอยู่ดีแตกต่างกัน หรือความมั่นคงในชีวิตแตกต่างกันตามไปด้วย
  • ด้วยเหตุนี้การศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต และจำเป็นในทางสังคม การที่ประชาชาติมีการศึกษาสูงขึ้นก็จะหมายถึง พลเมืองในชาตินั้น ถูกยกระดับขึ้นให้เป็นสังคมของชนชั้นกลาง

หมายถึงสังคมของชนชั้นที่มีการศึกษา และมีรายได้ในระดับที่ดูแลตนเองและครอบครัวได้โดยไม่เดือดร้อน


นักศึกษา กศน.กำลังรอเข้าห้องสอบตามสนามสอบต่างๆของ ศูนย์ กศน.

 การที่ กศน.เปิดโอกาสทางการศึกษาทางเลือกขึ้นมา จึงเป็นคุณูปการอย่างมากมายต่อสังคม
ความสำเร็จของ กศน.อาจวัดได้จาก


  1. ตัวเลขผู้ที่มาสมัครเรียนในแต่ละปี
  2. ลดตัวเลขของที่อ่านหนังสือไม่ออก และตัวเลขของผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้กับสังคม
  3. เพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือก ให้ประชาชนได้มีโอกาสต่อยอดทางศึกษา
  4. สร้างแรงงานให้มีคุณภาพในระดีบที่สูงขึ้น ป้อนคืนสู่ตลาดแรงงาน
  5. เป็นก้าวแรกที่จะผลักดันให้ประชาชนเดินไปสู่ความสำเร็จทางการศึกษา และต่อยอดทางการศึกษา และความมั่นคงด้านอาชีพให้กับประชาชน
  6. ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในแต่ละปี
  7. ยกระดับและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลง

การศึกษานอกระบบปัจจุบันได้แบ่งวิธีการเรียนออกเป็น 2 แนวทางหลักดังนี้

  1. การศึกษาทางไกล เป็นการเรียนรู้โดยผู้ที่สมัครเข้าเรียน ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียน โดยที่ กศน.จะอำนวยความสะดวก ด้านสื่อการศึกษาในรูปแบบต่างๆให้ รวมถึง ติดต่อประสานงานกับนักศึกษาอย่างใกล้ชิด เช่นการแจ้งข่าวต่างๆ ปฏิทินการศึกษา แจ้งข่าวความเคลื่อนไหวในแต่ละภาคเรียน รวมไปถึงแจ้งข่าวการ ลงทะเบียนเรียน แจ้งผลคะแนน และอื่น โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น สถาบันทางไกลศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนศูนย์ท้องฟ้าจำลอง
  2. การศึกษาแบบพบกลุ่ม โดยที่นักศึกษาต้องเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มต่างๆตามที่ทาง กศน.ได้จัดขึ้นและกำหนดให้นักศึกษาต้องเข้าร่วม โดยที่ กศน.ยังคงอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาเช่นเดิม

  • ดังนั้นนักศึกษาที่ต้องการจะเข้าเรียน จึงมีโอกาส มีทางเลือกตามความถนัด เวลา ที่ตนเองสามารถบริหารจัดการได้ นักศึกษาสามารถเลือกเรียน ระบบใดระบบหนึ่งให้ตรงกับความสะดวกของตนเองได้

เมื่อนักศึกษาได้ผ่านกระบวนการการเรียนรู้ตามหลักสูตรต่างๆของกศน.แล้ว นักศึกษาจะได้วุฒิการศึกษา ตามช่วงชั้นที่ตนเองสมัครเรียนและสอบผ่าน รวมถึง ผ่านชั่วโมงกิจกรรม เข้าร่วมสัมมนาตามกระบวนการ หลักสูตรที่ กศน.จัดขึ้น

วุฒิบัติจาก กศน. มีศักดิ์และสิทธิ ทางการศึกษาสมบูรณ์ เหมือนเช่น กับผู้ที่จบการศึกษาในระบบทุกประการ




การที่ตัวเลขผู้สมัครเรียน กับ กศน.ในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้น มองได้ 2 แนวทาง

  1. ความสำเร็จในการจัดการศึกษาของ กศน. ตรงเป้าหมาย ตรงกับความต้องการ หรือสนองตอบความต้องการของประชาชน
  2.  เป็นความล้มเหลว ของการจัดการศึกษาในระบบ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวเลขผู้สมัครเรียนมากมายในแต่ละปีของ กศน. ส่วนหนึ่งมาจาก เด็กที่ถูกผลักให้ออกจากโรงเรียน ภาคปกติ หรือในระบบ หมายถึง เด็กพวกนี้ ถูกปฏิเสธจากโรงเรียนภาคปกติ ในระบบ หรือ โรงเรียนในระบบ ไม่สามารถพาเด็กเหล่านี้ไปสู่ฝั่งฝันได้

จึงผลักเด็กออกมาเผชิญชะตากรรมตามลำพังในสังคม โดยที่โรงเรียนไม่สนใจผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและอนาคตของเด็ก ว่าจะมีชะตาชีวิตอย่างไร ทั้งที่ โรงเรียนปกติ หรือครู สามารถจะยื้อให้เด็กอยู่ต่อ ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ จนจบชั้นนั้นๆได้ หรือจัดสรรห้องพิเศา สำหรับเด็กที่มีพลังให้เรียนเฉพาะกลุ่มได้ แต่โรงเรียนปกติก็ไม่ได้กระทำสิ่งนั้น

  • นทางตรงกันข้าม เด็กที่ถูกผลักออกจากโรงเรียนปกติในระบบ กลับมีผลการเรียนดี มีกิจกรรมเด่นใน กระบวนการศึกษาทางเลือกตามแบบ กศน.


ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของ กศน.จึงเปรียบเสมือน ความล้มของภาครัฐในการจัดการศึกษาในระบบไปด้วย เป็นเช่นเดียวกัน


กลุ่มสาระการเรียนรู้ของ กศน.5 กลุ่ม

  1.  สาระทักษะการเรียนรู้
  2. สาระความรู้พื้นฐาน
  3. สาระการประกอบอาชีพ
  4. สาระทักษะการดำเนินชีวิต
  5. สาระการพัฒนาสังคม
โครงสร้างหลักสูตร ของ กศน.

  • ระดับมัธยมต้น  (ม.3 )
  • ต้องสอบผ่านตามหลักสูตร จำนวน 56 หน่วยกิต
  • แยกเป็นวิชาบังคับ 40 หน่วยกิต
  • วิชาเลือก               16 หน่วยกิต


  • ระดับมัยมศึกษาตอนปลาย ( ม.6 )
  • ต้องสอบผ่านตามหลักสูตรครบ 76 หน่วยกิต
  • กลุ่มวิชาบังคับรวม 44 หน่วยกิต
  • กลุ่มวิชาเลือกจำนวน 32 หน่วยกิต

  • นอกจากนี้นักศึกษาของ กศน.ทุกระดับต้องร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ( กพช.) รวม 200 ชั่วโมง
หรือทำกิจกรรม กพช.ด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 80 ชั่วโมง

เมื่อนักศึกษาสอบได้หน่วยกิตครบ ชั่วโมงกิจกรรมครบ นักศึกษาที่จะจบต้องร่วมสัมมนา และสอบ N -NET ด้วย จึงจะถือว่า นักศึกษาได้จบการเรียนของหลักสูตร กศน.อย่างสมบูรณ์





อนึง จุดบกพร่องของ กศน.ที่สมควรจะได้รับการแก้ไขคือ


  • การจัดปฏิทินการศึกษาที่ไม่ชัดเจน เช่นรายวิชาที่จะเรียนในแต่ละภาคการศึกษา และตารางสอบล่วงหน้า ในรายวิชานั้นๆ ซึ่งทาง กศน น่าจะมีการกำหนดล่วงหน้าให้นักศึกษา สามารถบริหารเวลาจัดการตัวเองก่อนลงทะเบียนได้



  • ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการสอบซ้ำซ้อน ในรายวิชา ซึ่งจะมีปัญหากับนักศึกษา 

จริงอยู่แม้ทาง กศน.จะเปิดโอกาสให้นักศึกษา ยื่นคำร้องขอสอบเป็นกรณีพิเศษ ในวันเดียวกันได้ แต่ในความเป็นจริง กรรมการคุมสอบ ไม่สามารถขยายเวลาสอบ เป็นกรณีพิเศษ ออกไปให้นักศึกษาได้ หากแต่ใช้เวลาสอบเดียวกันกับเวลาที่สอบจริง

ทำให้นักศึกษามีปัญหาในการทำข้อสอบไม่แล้วเสร็จ ส่งผลต่อการสอบ และการขอจบการศึกษาได้ ซึ่ง ทางกศน.ต้องจัดการแก้ไขปัญหานี้ ให้หมดไปอย่างเร่งด่วน

 กังวาล ทองเนตร รัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง



วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

หัวใจสำคัญของธรรมาภิบาล


หลักธรรมาภิบาล

หลักธรรมาภิบาล ซึ่งเรา มักจะพูดหรือมักจะได้ยินกันอยู่เป็นประจำแท้จริงแล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร

แนวคิดหลักธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ของประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นมาจาก 
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับ พ.ศ.2551 ในมาตรา 3/1

  • โดยความในมาตรา 3/1 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีข้อความดังต่อไปนี้


" มาตรา 3/1 การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภาระกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการของประชาชนทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงาน "

จากข้อความในมาตราดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยได้ตรา พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ขึ้นมา มีทั้งสิ้นจำนวน 9 หมวด รวม 53 มาตรา และมีการบันทึกเหตุผลในการตรา พ.ร.ฏ.ขึ้นมาไว้ใน หมายเหตตอนท้าย พ.ร.ฎ.นี้ด้วย

ซึ่ง พ.ร.ฎ.นี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2546 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ตุลาคม 2546 ถัดจากวันประกาศ 1 วัน

  • ธรรมาภิบาลมีหลักการสำคัญอยู่ 6 หลัก และมีเป้าหมายในการปฏิบัติ 7 เป้าหมาย ดังนี้


หลักธรรมาภิบาล 6 หลักคือ
  1. หลักนิติธรรม (The Rule of Law )
  2. หลักคุณธรรม (Morality)
  3. หลักความโปร่งใส (Accountability)
  4. หลักการมีส่วนร่วม (Participation)
  5. หลักความรับผิดชอบ (Responsibility)
  6. หลักความคุ้มค่า (Cost )

  • ส่วนเป้าหมาย 7 เป้าหมายมีดังนี้

  1. เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
  2. เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
  3. มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
  4. ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกินความจำเป็น
  5. มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
  6. ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
  7. มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอยู่สม่ำเสมอ



โดย พ.ร.ฎ.ฉบับบนี้ได้ระบุให้ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในกำกับของราชการ ฝ่ายบริหาร ต้องจัดทำธรรมาภิบาลให้ครบ ตาม 7 เป้าหมาย รวมไปถึงรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานในส่วนราชการก็มีผลผูกพันไปด้วย

อีกทั้งได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ต้องจัดทำ เป้าหมายของธรรมาภิบาลอย่างน้อย 2 เป้าหมายคือ เป้าหมายที่ 4 และเป้าหมายที่ 6เป็นอย่างน้อย และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.นี้



กังวาล  ทองเนตร รัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครองมหาวิทยาลัยรามคำแหง



วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กลุ่มประเทศโลกที่1-3คืออะไร


การแบ่งกลุ่มโลกที่ 1-3

เรามักจะได้ยินมีการเรียกประเทศโลกที่ 1 ประเทศโลกที่ 2 หรือประเทศโลกที่ 3 อยู่เป็นประจำ
แต่ก็ยังไม่เข้าใจความหมายของศัพทฺ์คำนี้

การแบ่งโลกออกเป็น 3 กลุ่มประเทศ มีจุดเริ่มต้นขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น 

ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง สองค่ายยักษ์ใหญ่ คือ ค่ายเสรีประชาธิปไตย (อเมริกา ) และค่าสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต ) โดยการแบ่งนี้ แบ่งตามลักษณะรูปแบบการปกครอง และระบบเศรษฐกิจดังนี้

  1. กลุ่มประเทศโลกที่ 1 หมายถึงกลุ่มประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบประชาธิปไตยมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือการตลาดเสรี กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม เช่น อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ  เยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น
  2. กลุ่มประเทศโลกที่ 2 คือกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดการปกครอง และระบบเศรษฐกิจแบบ สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หรือมักเรียกอีกอย่างว่า กลุ่มประเทศหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่น รัสเซีย จีน  ยูเครน คาซัคสถาน โปแลนด์ ฮังการี เป็นต้น
  3. กลุ่มประเทศโลกที่ 3 ได้แก่ กลุ่มประเทศที่ไม่มี ระบบเศรษฐกิจและการปกครองเป็นของตนเองเป็นการจำเพาะ แต่จะนำเอาการปกครอง และระบบเศรษฐกิจของ กลุ่มโลกที่ 1 โลกที่ 2 มาปรับใช้ ซึ่งมักเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มประเทศยากจน เช่น เอเซีย เกาหลีเหนือ ไทย อินเดีย กัมพูชา ฯลฯ และแถบประเทศละตินอเมริกา แอฟริกา และประเทศยากจนอื่นอีกทั่วโลก
  • สรุปการแบ่งกลุ่มประเทศโลกที่ 1-3 จึงเป็นการแบ่งตามลักษณะรูปแบบการปกครอง ฐานะทางเศรษฐกิจ และระบบเศรษฐกิจ เป็นหลัก

กังวาล  ทองเนตร คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครองมหาวิทยาลัยรามคำแหง

วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559

เป้าหมายของการมีรัฐธรรมนูญ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ไทย)


รัฐธรรมนูญ ( constitution ) ที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ รัฐธรรมนูญของประเทศ สหรัฐอเมริกา ซึ่งร่างขึ้นโดย มหาบุรุษ 3ท่าน ของอเมริกาคือ

  1. เบญจมิน แฟรงคลิน
  2. เจมส์ เมดิสัน
  3. อเล็กซานเดอร์  แฮมิลตัน
ซึ่งรัฐธรรมนูญของอเมริกา มีเพียง 7 มาตรา เท่านั้น


รัฐธรรมนูญ อเมริกา


  • ส่วนประเทศอังกฤษ ไม่มีรัฐธรรมนูญ มีเพียงแค่ แมกนาคาร์ตา ซึ่งจารึกเป็นภาษา ละตินแปลว่าเอกสารแผ่นใหญ่ ที่ไม่นับแมกนาคาร์ตาว่ารัฐธรรมนูญ สืบเนื่องมาจาก เนื้อหาใน แมกนาคาร์ตา เป็นเพียงข้อตกลง หรือ สัญญา ระหว่าง กษัตริย์ กับขุนนางอังกฤษในยุคสมัยนั้นเท่านั้น ไม่มีข้อความส่วนใดที่ กำหนด รูปแบบรัฐ โครงสร้างรัฐ โครงสร้างอำนาจ หรือส่วนอื่นๆ ดังนั้นแมกนาคาร์ตา จึงไม่นับเป็นรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

แมกนาคาร์ตา

รัฐธรรมนูญ ( constitution ) คือกฎหมายแม่แบบ ที่ใช้ในการปกครองประเทศแต่ละประเทศ  เหตุที่รัฐธรรมนูญ ถูกยกให้เป็นกฎหมายแม่ หรือกฎหมายสูงสุด ก็สืบเนื่องมาจาก เนื้อหาในรัฐธรรมนูญจะประกอบด้วยสิ่งต่างๆดังนี้


  1. มีการกำหนดโครงสร้างของรัฐ หรือประเทศ หรือรูปแบบของรัฐ ว่าจะให้เป็นรูปแบบใด เช่น สาธารณะรัฐ ( republic ) สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ( socialism ) ราชอาณาจักร (Kingdom )  เป็นต้น
  2. มีการกำหนดโครงสร้างอำนาจ ว่าแต่ละฝ่ายมี โครงสร้างอำนาจ หน้าที่อย่างไร เช่น ฝ่ายบริหารมีวิธีการเข้าสู่อำนาจอย่างไร และออกจากอำนาจอย่างไร หรือผ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ มีโครงสร้างอำนาจอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร มีการแยกอำนาจหรือแบบรวมศูนย์อำนาจ
  3. มีการกำหนดรูปแบบการปกครองรัฐหรือประเทศ ว่าใช้รูปแบบการปกครองใด อาทิ รูปแบบประธานาธิบดีแยกอำนาจ (อเมริกาเป็นต้นแบบ ) รูปแบบรัฐสภา (อังกฤษ เป็นต้นแบบ ) รูปแบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา ( ฝรั่งเศส เป็นต้นแบบ ) หรือรุปแบบอื่นๆเช่น ราชาธิปไตย แบบชนเผ่า เป็นต้น
  4. มีการกำหนดสถาบันต่างๆในทางสังคมขึ้น และแต่ละสถาบัน มีความความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ประธานาธิบดี (ในส่วนที่ทำหน้าที่ ประมุขแห่งรัฐ ) สถาบันทางการเมือง สถาบันทางตุลาการ สถาบันทางการศึกษา และสถาบันทางสังคมอื่นๆ
  5. มีการกำหนดโครงสร้าง หน่วยงานทางการปกครอง มีกี่ระดับ ระดับใดบ้าง มีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีการจัดการปกครอง อย่างไร
  6. มีการกำหนดขั้นตอนการใช้อำนาจ ทั้งฝ่ายบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ว่ามีขั้นตอนระเบียบปฏิบัติอย่างไร
  7. มีการกำหนดบทบาท สิทธิ หน้าที่ ของ พลเมือง หรือสมาชิกในสังคมนั้นๆว่าต้องมี บทบาท สิทธิ หน้าที่ อย่างไร
  8. มีการกำหนดและคุ้มครอง หรือ รับรอง  บทบาท หน้าที่ สิทธิ ของพลเมืองในประเทศนั้นๆว่าจะได้รับการคุ้มครอง ดูและจากรัฐอย่างไร
  9. มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ของฝ่ายบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ที่พึงกระทำต่อ รัฐ พลเมืองของตนอย่างไร
  • ซึ่งโดยรวมแล้วจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ กำหนดโครงสร้างหลักๆของประเทศ  ต่างๆเอาไว้แบบ กว้างๆไม่เจาะลึกลงในรายละเอียด ซึ่งจะไปเขียนไว้ในกฎหมายลูกแทน
  • ดังนั้นหลักการบัญญัติรัฐธรรมนูญ ตามรูปแบบประชาธิปไตย (ที่เป็นสากล )  จะมุ่งเน้นไปที่ การรับรอง บทบาท หน้าที่ สิทธิทางธรรมชาติ ของมนุษย์ที่พึงมีพึงได้อยู่ก่อนแล้วตามธรรมชาติ ให้มีความถูกต้อง ชอบธรรม มากขึ้นเท่านั้นเอง 
  • รัฐธรรมนูญตามหลักประชาธิปไตยสากลจึงไม่ใช่ การบัญญัติความต้องการของชนชั้นปกครอง ว่าต้องการ กระทำ หรือไม่กระทำสิ่งใด ต่อชนชั้นถูกปกครอง หากแต่เป็นการรับรองสิทธิ ต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นและเป็นสากล
  • รัฐธรรมนูญที่ดี จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นจากความต้องการของชนชั้นปกครอง หรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่ เป็นรัฐธรรมนูญ ที่ถูกบัญญัติขึ้น หรือ ทำลายอุปสรรคต่างๆ ที่จะก่อปัญหา ที่จะกระทบสิทธิ พลเมือง หรือ อำนวยความสะดวก หรือสนองตอบความต้องการของพลเมือง เป็นหลัก


กังวาล  ทองเนตร คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง


อดอป ฮิตเลอร์ (ฟาสซิสต์ เยอรมัน )


โฮจิมินต์ (เวียตนาม)


เบนิโต มุสโสลินี (บิดาผู้ก่อตั้งระบอบฟาสซิสต์ อิตาลี )


อินทิรา  คานธี (อินเดีย )


เลนิน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ (โซเวียต-รัสเซีย )

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

ปัญหาพรรคการเมืองไทยตอนที่2


ในตอนที่แล้วผมได้พูดถึงปัญหาในระดับสาขาพรรคและศูนย์ประสานงานพรรค รวมถึงการที่พรรคการเมืองไม่ใส่ใจที่จะขยายสาขาพรรคอย่างจริงจัง ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจาก สถานที่ก่อตั้งสาขาพรรค ซึ่งเป็นของพรรคการเมืองโดยตรง จะไม่มี แต่จะเป็นของสมาชิกพรรคบางคนที่มีกำลังในพรรคเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลถึงการคัดสรรคนลงเป็นกรรมการบริหารศูนย์/สาขาพรรคด้วย และรวมไปถึงตัวผู้สมัครในระดับต่างๆด้วย

ซึ่งปัญหานี้จะเห็นได้ชัดว่าเป็นโครงสร้างที่ไม่เปิดกว้างเป็นสาธารณะและปัญหาสถานที่ก่อตั้งสาขาพรรคมีน้อย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจาก กฎหมาย ที่บังคับยึดทรัพย์พรรคการเมืองเมื่อ พรรคไม่ดำเนินกิการทางการเมืองหรือถูกยุบ จึงปรากฎความจริงว่า ส่วนที่เป็นทรัพย์สินพรรคการเมืองจริงๆแล้ว จึงมีเพียง โต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ไม่กี่เครื่อง แก้วน้ำกระติกต้มน้ำ แก้วน้ำชา กาแฟเท่านั้นที่เป็นทรัพย์สินพรรคการเมือง ซึ่งผมได้เสนอทางแก้ไว้แล้ว

ในตอนนี้ผมจะพูดถึงปัญหาการเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ปัญหาการหาเสียง ภายในเขต

  • ปัญหาการเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นประตูด่านแรกของการก้าวขาเข้าสู่เวทีทางการเมือง จากการศึกษาจะพบว่า ประชาชนทั่วไป หรือบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคทั่วไป ไม่สามารถ นำเสนอตัวเองเป็นตัวแทนพรรคลงสนามเลือกตั้งได้เลย ผู้ที่จะเสนอตัวเป็นตัวแทนพรรคได้ มีอยู่ 3 กรณีคือ
  1. มีความสัมพันธ์หรือใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นเจ้าของสถานที่ตั้ง สาขาหรือศูนย์ประสานงานพรรคเท่านั้น
  2. เป็นผู้มีชื่อเสียงทางสังคม หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ที่กรรมการบริหารเป็นผู้คัดสรรเลือกเข้ามาเองจากส่วนกลาง แล้วจัดสรรลงไปสู่ระดับภูมิภาค
  3. เป็นอดีต ส.ส. ส.ว. หรืออดีตนักการเมืองระดับอื่นๆ
ดังนั้นแม้ทางทฤษฎี สาขาพรรคหรือศูนย์ประสานงานพรรค สมควรเป็นผู้คัดสรรบุคคลที่มีความเหมาะสมในพื้นที่ เพื่อลงสมัครรับการเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนพรรค และส่งรายชื่อที่ทางศูนย์หรือสาขาพรรคมีมติเลือกบุุคคลนั้นๆ ส่งไปยังพรรคส่วนกลางอนุมัติเห็นชอบ
แต่ในทางปฏิบัติ สาขาหรือศูนย์ ฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขั้นตอน กรรมวิธีให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ซึ่งจะพบว่าส่วนใหญ่ถ้าถูกเลือกโดยศูนย์ฯ/สาขา ก็จะเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับคนที่เป็นเจ้าของที่ตั้งศูนย์ฯ/สาขานั้นๆ หรือเป็นคนที่มีชื่อเสียงที่เดินเข้าไปสมัครโดยตรงกับพรรคใหญ่จากส่วนกลาง แล้วส่วนกลางค่อยแจ้งมายังศูนย์ /สาขาให้ทราบอีกที ว่าจะส่งใครลงสมัครพื้นที่นั้นๆ ซึ่งวิธีการนี้ ก่อให้เกิดปัญหาภายในขึ้น ในศูนย์ฯ/สาขา เป็นอย่างยิ่งซึ่งจะอธิบายต่อไป

  • ปัญหาการหาเสียงภายในเขตพื้นที่ ปัญหานี้สืบเนื่องมาจากปัญหาแรก จากการศึกษาพบว่าถ้าเขต เลือกตั้ง หรือระบบเลือกตั้งเป็นแบบ พวงใหญ่เรียงเบอร์ อาทิ เขตหนึ่ง มี 3คน เรียงเบอร์ 1-2-3จะมีปัญหาในการหาเสียงเป็นอย่างมากเริ่มจาก
  1. การแย่งกันเพื่อจะได้เป็นผู้สมัครเบอร์แรก ของทีม เช่น เบอร์ 1 2 3 ก็จะแย่งกันเป็น เบอร์ 1 เพื่อให้ตนเองเห็นชัดและถูกเลือกได้ง่าย
  2. ต้นทุนทางสังคมของผู้สมัครในทีมแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่นบางคนมีชื่อเสียง มีฐานะทางสังคมดีกว่า ผู้สมัครที่เหลือ ก็จะส่งผลต่อการรวมทีม การหาเสียง เพราะเวลาออกหาเสียงลงพื้นที่จริงๆ จะกลายเป็นว่า แตกทีมกัน ผู้สมัครที่มีชื่อเสียง มีฐานะดีกว่า ก็จะทิ้งลูกทีมคนอื่นๆ ผู้สมัครที่มีชื่อเสียงมีฐานะก็จะมี กำลัง ทั้งเงิน คน รถแห่ ตลอดจนถึงการทำป้ายหาเสียง แบบลูกโดด คือ ทำเฉพาะป้ายที่มีรูปมีเบอร์ตนเองเท่านั้น  ส่งผลกระทบต่อผู้สมัคร 2 คนที่เหลือ  ดังนั้นระบบเลือกตั้งแบบนี้ ผู้มีชื่อเสียง มีฐานะดีกว่า จะเป็นผู้ได้เปรียบ ผู้สมัครคนอื่นๆภายในทีม และส่งผลไปถึง การเกิดกล่มก้อน ความไม่สามัคคีกันภายในทีม
  3. สืบเนื่องจากข้อ 2 เมื่อมีผู้สมัครในทีมคนใดคนหนึ่งหาเสียงเดี่ยวทิ้งลูกทีม ก็จะส่งผลให้ ผู้สมัคร 2 คนที่เหลือ วิ่งหาตัวช่วย เช่น วิ่งเข้าหาผู้มีอิทธิพล มีเงิน มีกำลังในท้องที่ ให้ช่วยเหลือ ส่งผลให้เป็น ส.ส.มีเจ้าของ มีสังกัด มีระบบบุญคุณกันขึ้น และมีการตอบแทนกันขึ้นในภายหลัง เมื่อคนเหล่านั้นได้มีโอกาส บริหารประเทศ
  4. ปัญหาการเลือกตั้ง ระบบ พวงใหญ่เบอร์เดียว คือ ในเขตหนึ่ง มีผู้สมัคร 2-3 คนแต่ใช้เบอร์เดียวกัน  กรณีนี้จากการศึกษาพบว่า พรรคการเมืองจะกระจายผู้สมัครที่มีชื่อเสียง เป็นหัวหน้าทีมลงสมัครในเขตต่างๆ โดย พ่วงท้ายเอาผู้สมัครที่เหลือ ที่ไม่มีชื่อเสียง หรือหน้าใหม่ หรือ เป็นคนใกล้ชิด ร่วมทีมเข้าไปด้วย ระบบนี้ พบปัญหาตามมานอกจากที่กล่าวแล้วก็คือ ระบบบุญคุณ เช่นกัน เพราะผู้สมัครที่ โนเนม ถูกหนีบเข้าไปด้วยและได้เป็น ส.ส. ก็กลายเป็น เด็กในคาถาของ ผู้สมัครที่เป็นหัวหน้าทีมนั้นไป กลายเป็นกลุ่ม ก้อน หรือมุ้งเล็ก มุ้งใหญ่ ภายในพรรคขึ้นเช่นกัน
  5. ระบบเลือกตั้งแบบ เขตเดียวเบอร์เดียว หรือ วันแมน วันโหวต ระบบนี้สามารถแก้ปัญหา แบบพวงใหญ่ได้ชัดเจน คือผู้สมัครมีเอกเทศในการหาเสียง ไม่ถูกควบคุมหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลผู้สมัครอื่น แต่ ข้อเสียของระบบนี้ก็มี เช่น เส้นทาง การเป็นตัวแทนพรรค เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง นั่นเอง จะพบว่า ผู้ที่มีโอกาสได้ลงสมัครเป้นตัวแทนพรรค ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม คือมีอิทธิพล ใกล้ชิดพรรค เป็นส่วนใหญ่

ปัญหาในข้อนี้ แก้ไขได้โดย ใช้ระบบเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพแมรี่โหวต เปิดโอกาสให้ สมาชิกในพื้นที่ ได้ใช้สิทธิ์ ของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อเฟ้นหาคนลงรับสมัครเป็นตัวแทนพรรค จากนั้น ส่งรายชื่อให้ส่วนกลางอนุมัติ  เป็นการตัดอำนาจจากส่วนกลางออกไป ที่เข้ามาก้าวล่วงส่วนพื้นที่ระดับสาขาพรรค โอกาสหน้าผมจะเสนอปัญหาส่วนอื่นให้เห็นต่อไป

กังวาล ทองเนตร คณะรัฐศาสตร์เอกการปกครองมหาวิทยาลัยรามคำแหง







วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ปัญหาพรรคการเมืองไทย 1


พรรคการเมืองไทยกับการบริหารงานในสาขาพรรค


  • ตามนิยามหรือตามทฤษฎี คำว่าพรรคการเมือง หมายถึงที่ที่คนซึ่งมีอุดมการณ์ ความคิดเห็นเดียวกัน สอดคล้องกัน หรือคล้ายเคียงกัน มารวมตัวกัน เพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง แต่ในความเป็นจริงพรรคการเมืองของไทย หาใช่อย่างนั้นไม่
  • พรรคการเมืองไทยมักก่อตัวหรือถือกำเนิดขึ้นจากชนชั้นนำในสังคม หรือกลุ่มชนชั้นปกครอง เช่นขุนนาง ข้าราชการ ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และมีตำแหน่งทางสังคม บุคคลเหล่านี้เป็นคนกลุ่มแรก ที่ก่อตัวเป็นพรรคการเมืองขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนการงอกส่วนหัวขึ้นมาก่อน แล้วค่อยๆเติบโต ลงมาที่ส่วนลำคอ ลำตัว แขนและขาในภายหลัง
ซึ่งการเติบโตลักษณะนี้ แน่นอนว่าเป็นการเติบโตที่ผิดวิธี ผิดธรรมชาติ ของพรรคการเมืองที่ดี เพราะไม่ได้ ก่อตัวจากประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ในชาติ เราจึงมักจะพบว่า พรรคการเมืองไทย ส่วนใหญ่ ก่อตัวขึ้นมาเพื่อ รองรับบุคคล รองรับคณะบุคคล และรองรับภาระกิจเร่งด่วนบางประการ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ สถาบันทางการเมืองขั้นพื้นฐานของไทย อ่อนแอ และไม่สามารถขยายฐานสมาชิก ออกไปให้ถึงระดับรากหญ้าได้

พรรคการเมืองของไทยขาดอุดมการณ์สาธารณะ

กล่าวคือ เมื่อพรรคการเมืองก่อตัวขึ้นจากกลุ่มคน ภาระกิจจึงเป็น ภาระกิจเฉพาะหน้าเฉพาะกิจ ของกลุ่มบุคคลเท่านั้น และพรรคการเมืองไทย มิได้มีความต้องการที่จะขยายฐานรากออกสู่ประชาชนเลย 

ประชาธิปไตยฐานราก

พื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในส่วนที่เป็นฐานราก  ฐานรากเปรียบเสมือนเสาตอม่อของชาติ ในทุกระบบ ระบบใดก็ตาม เมื่อขาดซึ่งฐานรากนี้แล้ว จะไม่สามารถขับเคลื่อนหรือดำเนินการต่อไปให้มุ่งสู่จุดสูงสุดได้เลย  เพราะการที่พรรคการเมืองไม่ได้ให้ความสนใจกับฐานราก จึงไม่พยามที่จะขยายหรือสาขาพรรค ออกสู่ชนบท

สาขาพรรค และศูนย์ประสานงานของพรรคการเมือง

เราจะพบว่า สาขาพรรคหรือ ศุนย์ประสานงานของพรรคการเมืองในระดับภูมิภาค มิได้มีที่ตั้งที่ถาวร หรือชัดเจน หรือเป็นทรัพย์สินของพรรคการเมืองนั้นๆแต่อย่างใด  แต่สาขาพรรค/ศูนย์ประสานงานพรรคกลับเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ของสมาชิกพรรคบางคน ที่มีอำนาจ มีอิทธิพลในพรรค หรือในท้องถิ่นนั้นๆ เราจะสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ใช้เป็นที่ตั้งสาขาพรรค หรือศูนย์ประสานงานพรรค ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองพรรคใหม่ ป้ายชื่อสาขาพรรค และศูนย์ประสานงานพรรค ก็จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นปัจจุบันตามไปด้วย

การบริหารงานในศูนย์หรือสาขาพรรค


  •  นี่ก็เป็นจุดอ่อนและอีกช่องโหว่หนึ่งในระบบพรรคการเมืองไทย เพราะสาขาพรรค มักถูกครอบงำจากบุคคลที่เป็นเจ้าของสถานที่ที่ตั้งสาขาและศูนย์ประสานงานพรรคไปด้วย จากการศึกษาของผมจะพบว่า ประธานสาขาพรรค หรือประธานศูนย์ประสานงานพรรค ก็มักจะเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมก็คนที่ที่เป็นเจ้าของสถานที่ตั้งนั่นเอง


ปัญหาการผูกขาดการบริหารในสาขาพรรคกระทบต่อโคร้างสร้างพรรคอย่างไร


  • จากการศึกษาจะพบว่าเมื่อกรรมการบริหารสาขาพรรค เป็นคนกลุ่มเดียว ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจส่งคนในพื้นที่เพื่อลงสมัครเป็นตัวแทนในระดับต่างๆ จะพบว่า ผุ้ที่ลงสมัครส่วนใหญ่มักเป็นเครือญาติหรือกลุ่มคนใกล้ชิดกลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าของสถานที่ตั้งตรงนั้นด้วย

รวมไปถึงการคัดเลือกตัวแทนสาขาพรรคหรือศูนย์ประสานงานพรรค เพื่อไปทำหน้าที่โหวตเตอร์ เพื่อเข้าไปโหวตเลือกกรรมการบริหารพรรคในส่วนกลาง ก็มิได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย แต่มีการคัดเลือกตัวบุคคลที่ไว้ใจไว้แล้วเพื่อไปทำหน้าที่นี้  เมื่อโหวตเตอร์ถูกล็อคตัว พร้อมมีรายชื่อบุคคลที่ถูกสั่งให้เลือกเป็นกรรมการบริหารพรรค ผลออกมาก็เป็นเพียงพิธีกรรมตบตา เพื่อให้ถูกต้องสมบูรณ์ครบขั้นตอน ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองเท่านั้นเอง

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคำพูดที่ว่า พรรคเครือญาติ พรรคตระกูล และนำไปสู่สภาเครือญาติในที่สุด

วิธีการแก้ปัญหาในสาขาและศูนย์ประสานงานพรรค

การแก้ปัญหาจุดนี้สามารถกระทำได้โดย ทำให้พรรคการเมืองมีลักษณะดังนี้

  1. ทำให้พรรคการเมืองเป็นสาธารณะและเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริงโดยไม่ผูกขาดติดยึดอยู่กับกลุ่มทุน กลุ่มบุคคลผู้ก่อตั้งพรรค
  2. เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงในระดับฐานรากและทุกระดับ
  3. ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน หรือดึงดูดใจให้ประชาชนเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อให้ประชาชนเข้าไปคานอำนาจการบริหารภายในพรรคเสียก่อน
  4. การสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ควรมีเป้าหมายเพื่อ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเป็นการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองไว้ เพื่อที่จะได้ใช้โอกาสนั้นเสนอแนะ ลงมติ ร่วมมือ เพื่อเป็นการส่งเสริมระบบพรรคให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อเป็นพวก เป็นพรรค แต่ควรเป็นเพื่อรักษาสิทธิของตนเองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง
  5. เปิดโอกาสให้มีการจดตั้งพรรคการเมืองให้ง่ายขึ้น และเมื่อพรรคการเมืองถูกยุบ หรือไม่ทำกิจกรรมพรรคการเมือง ทรัพย์สินทั้งหมดของพรรคการเมือง ไม่ควรถูกยึดเข้าเป็นของรัฐ แต่ควรตั้งองค์กรทางการเมืองขึ้นมารองรับเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะ ให้มีหน้าที่ บริหารจัดการดูแลทรัพย์สินพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และมอบอำนาจในทรัพย์สินนั้นให้พรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่หรือมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพรรคการเมือง โดยให้พิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ และเมื่อพรรคดังกล่าวล้มพรรคก็ให้ทรัพย์นั้นตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางต่อไป เป็นต้น
  6. ให้ภาครัฐสนับสนุนเงินให้แก่พรรคการเมืองที่มีการขยายฐานสมาชิกพรรคและสาขา/ศูนย์ประสานงานพรรคเป็นสำคัญ แทนการนับตัวเลข ส.ส.ในสภาเพราะจะทำให้พรรคการเมืองมองแต่ยอดตัวเลขในสภา จนละเลยฐานสมาชิกไป
  7. ให้ภาครัฐหรือ ก.ก.ต.จัดหาสถานที่เพื่อทำเป็นที่ทำการสาขาพรรคหรือศูนย์ฯให้พรรคการเมืองเช่าทำกิจการทางการเมือง
  8. ให้สาขาพรรคหรือศูนย์ประสานงานพรรค เป็นหน่วยคัดกรองผู้ที่จะลงสมัคร เป็นตัวแทนพรรคในระดับต่างๆ แทนส่วนกลาง ซึ่งโดยมากส่วนกลางจะคัดคนและส่งลงสมัครโดยที่สาขาพรรคหรือศูนย์ประสานงานพรรคไม่ได้คัดเลือกเอง หรือคัดเลือกเฉพาะกลุ่มคนของตนเองที่มีอำนาจในสาขาพรรค/ศูนย์ประสานงานพรรคเท่านั้น
  9. การเลือกตั้งขั้นต้นหรือไพมารี่โหวต สามารถจัดขึ้นได้โดยให้สาขาพรรคหรือศูนย์ประสานงานพรรคในแต่ละภูมิภาคที่จะมีการเลือกตั้งจัดขึ้น และให้สมาชิกที่เสนอตัวเองเป็นตัวแทนพรรค ได้มีโอกาสหาเสียงสนับสนุนตนเองเต็มที่ ก่อนให้สมาชิกในศูนย์หรือสาขานั้นโหวต
  10. การโหวตคัดสรรคนที่จะมาเป็นตัวแทนพรรคลงสมัครในท้องถิ่นนั้นๆต้องทำโดยเปิดเผย โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคในสาขา/ศูนย์นั้นๆ ที่ต้องการจะร่วมโหวต แสดงตนลงทะเบียนไว้กับศูนย์ประสานงาน และให้ศูนย์ประสานงานหรือสาขาพรรค เปิดเผยตัวเลขสมาชิกผู้ที่มีความประสงค์จะลงคะแนนให้ชัดเจนต่อสาธารณะ


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

พรรคการเมืองพรรคแรกของไทย

ตามพฤตินัย พรรคการเมืองพรรคแรกของไทยคือ พรรค คณะราษฎร นั่นเอง กล่าวคือ การที่จะระบุว่า กลุ่มใดคณะใดเป็นพรรคการเมืองหรือไม่ ต้องคำนึงจากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. มีแนวนโยบายในการบริหารรัฐหรือประเทศ ซึ่งคณะราษฎร มีหลักปกครอง 6 หลักซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่ชัดเจน
  2. มีอุดมการณ์และมีการรวมตัวกันของคนที่ประกอบเป็นคณะ
  3. มีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการอำนาจรัฐมาไว้ในมือ เพื่อให้นโยบายที่ตนเองวางไว้สัมฤทธิ์ผล
  4. มีโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างการบริหารภายในองค์กรชัดเจน


  • ซึ่งตามหลักเกณพ์นี้ คณะราฎรจึงเป็นพรรคการเมืองชัดแจ้งในทางพฤตินัย และในเวลาต่อมา ยังมีบุคคลในคณะราฎรพยายามที่จะเปิดรับสมาชิก เพื่อแสดงตนเป็นพรรคการเมืองอีกด้วย
  • เมื่อปี พ.ศ.2476 หนึ่งปีถัดมาหลังจากการเปลี่ยนแปลง นักการเมืองยุคนั้น อย่าง หลวงวิจิตรวาทการ มีความพยายามที่จะจดแจ้งก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อ พรรค คณะชาติ แต่รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมือง
  • ส่วนพรรคการเมืองที่มีการจดแจ้งเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของไทย ตามนิตินัยคือ พรรคก้าวหน้า ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นสวนทางกับ คณะราษฎร แต่ก็ยังไม่ได้ลงสนามเลือกตั้ง ต่อมาได้ยุบรวมกันกับพรรคประชาธิปัตย์
ข้อมูลเพิ่มเติม  >>>> [ 1 ][ 2 ]

กังวาล ทองเนตร คณะรัฐศาสตร์ภาควิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง