พระตรีมูรติหรือเทพเจ้าทั้ง 3 องค์
ศาสนาพราหมณ์ หรือ ฮินดู
ความเป็นมาของศาสนา- พราหมณ์เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของโลก กำเนิดขึ้นในประเทศ อินเดีย
- ผู้ก่อตั้งศาสนาพราหมณ์ เป็นพวก อารยัน หรืออริยกะ
- ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของอินคือ ชาว ดราวินเดียน หรือฑราวิธ หรือ ทัสยุ หรือ มิลักขะ ซึ่งอาศัยตั้งรกรากอยู่ที่ลุ่มน้ำสินธุ
- โดยชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดียมีความเชื่อในเรื่อง วิญญาณ และนิยมบูชา ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
- รวมไปถึงต้นไม้ ภูเขา ท้องฟ้า โดยมีความเชื่อว่าวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะแฝงเร้นตัวอยู่ในสิ่งที่พวกตนเองนับถือ
- และในเวลาต่อมาได้ยกย่องวิญญาณเหล่านั้นให้เป็นเทพเจ้า
- การบูชาเทพเจ้า จะมีกองไฟ สิ่งของที่นำมาบูชาจะประกอบไปด้วย นม เนย เนื้อสัตว์ โดยจะใส่สิ่งเหล่านี้เข้าไปในกองไฟ เพราะเชื่อว่า ไฟคือสื่อกลางระหว่าง เทพเจ้า กับ มนุษย์
- ต่อมาเมื่อพวก อารยัน ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ลุ่มน้ำสินธุตอนบน ซึ่งพวกอารยันจะมีความเชื่อในเรื่องความลี้ลับ นับถือ เทวดา และมีการบูชาพระอาทิตย์
- เมื่อความเชื่อชนเผ่าพื้นเมืองเดิม และชาว อารยันผู้มาใหม่สามารถผสมผสานกันได้
- ในที่สุดชนเผ่าอารยันก็ได้ก่อตั้งศาสนาของตนขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ เรียกว่า ศาสนาพราหมณ์ มีคัมภีร์พระเวท เป็นคัมภีร์ทางศาสนา มีผู้ประกอบพิธีกรรม เรียกว่า พราหมณ์
การแบ่งยุคของศาสนาพราหมณ์
- ดร.ราธกฤษณัน นักปราชญ์ชาวอินเดียได้แบ่งศาสนาพราหมณ์ออกเป็น 3 ยุคปรากฎในงานเขียนของเขาในหนังสือชื่อ Indian Philosophy ดังนี้
- ยุคพระเวท ( Vedic Period ) เริ่มตั้งแต่มีคัมภีร์พระเวทเกิดขึ้น มีระยะเวลาประมาณ 1,000 ปี จนถึง 100 ปีก่อนพุทธกาล
- ยุคมหากาพย์ ( Epic Period ) เริ่มสมัย 10 ปี ก่อนพุทธกาลจนถึง พุทธศักราช 700 โดยประมาณ ในยุคนี้มีมหากาพย์ เกิดขึ้น 2 เรื่อง คือ รามายณะ ( รามเกียรติ์ ) และมหาภารต เป็นยุคเดียวกับที่พุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้วและกำลังมีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และเป้นคู่แข่งกับศาสนาพราหมณ์ในยุคนี้
- ยุคระบบทั้ง 6 ( Period of the six Systems ) ยุคนี้เป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์มีการพัฒนามาเป็นฮินดู และได้เกิดปรัชญาของชาวฮินดู ทั้ง 6 ระบบขึ้นคือ
- ลัทธิสางขยะ
- ลัทธิโยคะ
- ลัทธิวิเศษษิกะ
- ลัทธินยายะ
- ลัทธิมีมางสา
- ลัทธิเวทานาตะ
- โดยทั้ง 6 ลัทธิเกิดมาจากพื้นฐานทางคัมภีร์เดียวกันคือคัมภีร์ อุปนิษัท
เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์
ในตอนต้นชาวอารยันแบ่งเทพเจ้าที่ตนเองนับถือออกเป็น 3 กลุ่มคือ
- เทพเจ้าบนพื้นโลก
- เทพเจ้าบนอากาศ
- เทพเจ้าบนสวรรค์
โดยในแต่ละกลุ่มจะมีเทพอยู่ 11 องค์ รวมเป็น 33 องค์ การนับถือเทพหลายองค์เรียกว่า พหุเทวนิยม ( Polytheism )
ต่อมาชาวอารยันได้ยกย่องเทพ 3 องค์ขึ้นมาเป็นพิเศษจากจำนวนน 33 องค์คือ
- พระอินทร์
- พระวิรุณ
- พระอัคนี
- และช่วงปลายของยุคพระเวท ได้มีพัฒนาการพิเศษขึ้นโดยได้ยกย่องเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลให้เป็นเทพเจ้าสูงสุด คือ พระพรหม หรือ พรหมัน หรืออีกชื่อซึ่งเป็นชื่อแต่เดิม คือ ปชาบดี
- พระพรหม หรือ พรหมัน ถูกยกย่องให้เป็นเทพเจ้าสูงสุด เป็นเทพผู้สร้างสรรพสิ่่งทั้งหลาย ในยุคนี้ ศาสนาพราหมณ์ มีการนับถือเทพเพียงองค์เดียว เรียกว่า เอกเทวนิยม ( Mono theism )
- ในยุคนี้นี่เองสังคมอินเดียก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้นครั้งใหญ่ เกิดระบบวรรณะขึ้น 4 วรรณะในสังคมอินเดีย ได้แก่
- วรรณะกษัตริย์
- วรรณะพราหมณ์
- วรรณะแพศย์
- วรรณะศูทร
ภายหลังเกิดระบบชนชั้นขึ้นศาสนาพราหมณ์ก็ได้ ก็ได้กลับมานับถือเทพหลายองค์อีกครั้งโดยนับถือเทพเจ้า 3 องค์หรือ พระตรีมูรติ ( อ่านว่า ตรี มู-ระ-ติ ) คือ
- พระพรหม เชื่อว่า เป็นผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่ง
- พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ เป็นเทพผู้รักษาคุ้มครองโลก
- พระอิศวรหรือพระศิวะ เป็นเทพเจ้าสูงสุด และเป็นเทพผู้ทำลายโลก เมื่อเห็นว่าควรทำลาย
ในสมัยที่พราหมณ์ได้นับถือเทพ 3 องค์หรือพระตรีมูรติ เป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์ ได้พัฒนาการมาเป็นศาสนา ฮินดู
- ดังนั้นศาสนาพราหมณ์จึงเป็นรากฐานของศาสนา ฮินดู หรือ ฮินดู เกิดมาจากวิวัฒนาการของศาสนาพราหมณ์นั่นเอง โดยเริ่มมีพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ.800 มีลักษณะเป็นเทวนิยม
- เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมาจาก พรหมัน หรือ ปรมาตมัน มีความเชื่อว่า วิญญาณจะไม่ดับสูญ และจะเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้น โดยเชื่อว่าการที่จะบรรลุ และหลุดพ้นได้ ต้องมีการปฏิบัติตามโยคะ ทำจิตให้เป็นสมาธิ แสวงหาความรู้ รู้แจ้งในสัจธรรม และไปสู่ความหลุดพ้น เรียกว่า บรรลุโมกษะ เป็นปลายทาง
คัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์- ฮินดู
- เรียกว่าคัมภีร์พระเวท ประกอบด้วย 4 คัมภีร์ดังนี้
- ฤคเวท เป็นคัมภีร์แห่งความรอบรู้ในบทสวดมนต์สรรเสริญเทพเจ้า
- ยชุรเวท เป็นคัมภีร์รวมบทร้อยกรองใช้ในพิธีกรรม บูชายัญ
- สามเวท เป็นคัมภีร์รวมบทสวดมนต์สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆของประชาชนดดยทั่วไป
- อาถรรพเวท เป็นคัมภีร์เวทมนต์ คาถา
นิกายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมี 3 นิกายดังนี้
- นิกายพรหม นับถือพระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด ถือเป็นนิกายที่เก่าแก่ที่สุดในศาสนาพราหมณ์
- นิกายไวษณพ นิกายนี้นับถือ พระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุด เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.1367-1467 เชื่อเรืองพระวิษณุอวตารลงมาปราบ ยคุเข็ญ
- นิกายไศวะ นิกายนี้นับถือ พระศิวะ หรือพระอิศวรเป็นใหญ่ มีสัญลักษณ์พิเศษคือ ศิวะลึงค์ หรืออวัยวะเพศชาย เป็นสัญลักษณ์แห่งนิกาย
พระพรหม
หลักธรรมของศาสนาพราหมณ์ -ฮินดู
หลักธรรม 10 ประการได้แก่
- ธฤติ ได้แก่ ความมั่นคง ความกล้าหาญ ความสุข ความพากเพียร และพอใจในสิ่งที่ตนเองมี
- กษมา ได้แก่ ความอดทน อดกลั้น
- ทมะ ได้แก่ การข่มใจ การระงับจิตใจ
- อัสเตยะ ได้แก่ การไม่ลักขโมย
- เศาจะ ได้แก่ การทำตนให้บริสุทธิ์ทั้งใจกาย
- อิทรีนิครหะ ได้แก่ การระงับอินทรีทั้ง 10 ได้แก่ประสาทรับความรู้สึกทั้ง 5 คือ หู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง และประสาทรู้สึกทางการกระทำ คือ มือ เท้า ทวารหนัก ทวารเบา ลำคอ
- ธี ได้แก่ สติ ปัญญา
- วิทยา ได้แก่ ปรัชญา ความรู้
- สัตยะ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความสุจริต ความจริง
- อโกธะ ได้แก่ ความมีขันติ ความไม่โกรธ
หลักอาศรม 4
- หมายถึงขั้นตอนของชีวิตหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับชีวิตให้สูงขึ้น 4 ประการดังนี้
- พรหมจารี เป็นขั้นตอนของเด็กชายตระกูลพราหมณ์ทุกคน จะต้องรับการคล้องด้ายศักดิ์สิทธิ์จากอาจารย์ เรียกพิธีนี้ว่า ยัชโญปวีต เมื่อได้รับการคล้องด้ายแล้วถือเป็นการประกาศตนเป็นพรหมจารี ถือว่าเป็นพราหมณ์ โดยสมบูรณ์ จะต้องศึกษาในสำนักของอาจารย์จนสำเร็จการศึกษา
- คฤหัสถ์ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะกลับบ้านเรือนของตนเพื่อแต่งงานและมีบุตร หรือผู้ครองเรือน
- วานปรัสถ์ คือช่วงที่พราหมณ์จะต้องปฏิบัติตนเพื่อสังคมและประเทศ เมื่อมีความครัวมั่นคงเป็นหลักเป็นฐานแล้ว รวมทั้งบุตรได้ออกเรือน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจะออกป่า เพื่อแสวงหาความวิเวก ฝึกจิตตนเอง ซึ่งอาจจะทำเป็นครั้งคราวแล้วกลับสู่เรือนก็ได้
- สันยาสี เป็นช่วงเวลาที่พราหมณ์ จะกรำทำเพื่อเพื่อนมนุษยชาติทั้งปวง เป็นช่วงของการสละชีวิตของคฤหัสถ์ หรือ ชีวิตครองเรือนเพื่อเข้าป่าออกบวช แสวงหาเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือการบรรลุ โมกษะ
หลักปุรุษารถะ หรือจุดมุ่งหมายของชีวิต
- ธรรม หมายถึง หลักศีลธรรมในสังคม เพื่อให้สังคมอยู่อย่างสันติ
- กาม หมายถึง การหาความสุขทางโลก ให้ดำเนินไปในแนวทางแห่งธรรมซึ่งส่งผลให้ตนเองมีสุขและสังคมก็มีสุขด้วย
- อรรถ เป็นการสร้างฐานะหรือแสวงหาทรัพย์โดยยึดแนวทางของธรรมเป็นหลัก
- โมกษะ เป็นความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายการเกิด เป็นอิสรภาพของวิญญาณ หลุดพ้นจากสังสารวัฏ เป็นอุดมคติสูงสุดของชีวิต และเป็นความสุขนิรันดร
หลักปรมาตมันและโมกษะประกอบไปด้วย
- ปรมาตมัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง เป็นดวงวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ หรือทุกสิ่งเกิดจากปรมาตมัน ปรมาตมัน เป็นอมตะ ไม่มีเพศ ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสันติสุขในตัวเอง เป็นปฐมแห่งวิญญาณทั้งปวง และเป็นบ่อเกิดของ อาตมัน
- อาตมัน เป็นดวงวิญญาณของปรมาตมัน
- โมกษะ เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต หรือการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ การที่วิญญาณย่อย หรือ อาตมัน จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันได้นั้นจะต้องเข้าถึง โมกษะ โดยวิธีที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้นั้นคือ มรรค 4 ได้แก่
- กรรมมรรค คือ การละกรรมซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการเวียนว่าตายเกิดและให้กระทำกรรมที่เป็นเหตุจะให้เราเข้าถึงการหลุดพ้น
- ชญานมรรค คือ วิธีแห่งการหลุดพ้นด้วยการรู้แจ้งในบรมสัตย์
- ภักติมรรค คือ วิธีแห่งการหลุดพ้นด้วยการภักดีองค์พระผู้เป็นเจ้า
- ราชมรรค คือ วิธีแห่งการหลุดพ้นด้วยการฝึกฝนทางจิต
( มรรค 4 ในศาสนาพราหมณ์ เป็นคนละหลักธรรมกับ มรรค มี องค์ 8 ของศาสนาพุทธ )
หลักทรรศนะ 6
- หลักทรรศนะ 6 เป็นหลักธรรมและการปฏิบัติที่เป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ทำให้ความเป็นพราหมณ์ กลายมาเป็นฮินดูคือ ลัทธิทั้ง 6 ที่กล่าวมาแล้วแต่เบื้องต้นั่นเอง
- ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่มีศาสดา ของศาสนา แต่จะนับถือ เทพเจ้าสูงสุดของตน ตามแต่ละนิกายทั้งสาม ให้เป็นเทพสูงสุด แทน
กังวาล ทองเนตร
พระวิษณุหรือพระนารายณ์
พระอิศวรหรือพระศิวะ
พระอิศวรหรือพระศิวะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น