Koungwhal Thongnetra

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่คลังปัญญา (ปัญญาคือแสงสว่าง ส่องทางชีวิต )123EE.BLOGSPOT.COM

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

สู้แล้วได้อะไร


เวทีสนามศุภฯเป็นชุมนุมครั้งที่2 ภายใต้ชื่อ นปช.ที่มีเสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์


มีหลายคนถามผมว่า สู้แล้วได้อะไร และผมยังแดงอยู่หรือไม่

ถ้าถามว่าสู้แล้วได้อะไรผมตอบได้ 2 อย่างคือ 

1. ตาย

2. ความเจ็บปวด

การต่อสู้ที่อีกฝ่ายมีอาวุธหนักอยู่ในมือ ผลมันมักจะออกมาเพียง สองด้านเท่านั้นคือ ตายในสนามนั้น และรอดออกมาอย่างเจ็บปวด ทั้งร่างกายและจิตใจ

ผู้ที่ตายไป ผลกระทบที่ตามมาคือ ครอบครัวเดือดร้อน เป็นอยู่อย่างลำบาก ญาติพี่น้องโศกเศร้าเสียใจ

ส่วนผู้ที่รอด ก็ได้ความเจ็บปวดจากการเห็นพี่น้องล้มตายต่อหน้า เห็นสถานะการณ์ที่เลวร้ายเกิดขึ้นต่อหน้าโดยชีวิตนี้ไม่มีทางลืมเลือนมันได้ และความเจ็บปวดต่อมาคือ เจ็บปวดจากความผิดหวังจากแกนนำทั้งหลายที่ไม่สนใจใยดี หลายคนติดคุกตาราง หลายคนพิการสูญเสียอวัยวะ สูญเสียศักยภาพไป เหล่านี้ล้วนเป็นความเจ็บปวดของผู้ที่รอด

ผมรอดครั้งที่ 1 จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เมื่อผมรอดผมจึงมีความเจ็บปวดจากเหตุการณ์นั้น ผู้นำขบวนในยุคนั้นได้ดิบดี ประชาชนผู้เดินตามได้ตาย และติดคุก เป็นความเจ็บปวดที่เห็นมาทุกยุค 

รอดตายครั้งที่ 2 จากเหตุการณ์เมษาเลือด คราวนี้ผมแค่ถูกปิดล้อมที่ทำเนียบรัฐบาลแต่ก็มีพี่น้องบาดเจ็บล้มตายที่สามเหลี่ยมดินแดง

รอดตายครั้งที่ 3 จากคืนวันที่ 10 เมษายน ที่เวทีผ่านฟ้า เสียงปืนทุกนัดมันก้องอยู่ในหูผมและผมหนีตายมาที่ราชประสงค์

รอดตายครั้งที่ 4 ที่แยกราชประสงค์ ผมติดอยู่ในวงล้อมพร้อมกับพี่น้องเสื้อแดงคนอื่นๆมากมายในขณะที่แกนนำหลายคนโดดหนีทิ้งพวกเราไว้กับมัจจุราชที่จะเอาชีวิตพวกเรา

ผมรอดมาถึง 4 ครั้งจึงไม่ต้องถามว่าผมเจ็บปวดแค่ไหน ทุกครั้งที่มีการชุมนุม ผู้ตายคือประชาชนชาวบ้าน ทุกครั้งที่มีการแบ่งประโยชน์ แกนนำคือคนที่รับ นี่เป็นความจริงที่ผมใช้ชีวิตแลกมาเพื่อการรับรู้ สิ่งนี้ และมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ถ้าอย่างนั้นจะเปลี่ยนคำถามผมใหม่ว่า สู้เพื่ออะไร

ผมก็จะตอบว่า : เพราะผมต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตัวระบอบ ซึ่งผมมองว่ามันล้าหลังมันไม่มีความยุติธรรม มันไม่ถูกต้อง ผมไม่ได้ เกลียดชังตัวบุคคลคนใดคนหนึ่งเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด แต่ผมเกลียดระบอบ หรือตัวโครงสร้าง



มื่อโครงสร้างมันถูกออกแบบไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อนในขณะที่ประชากรมีจำนวนน้อย การศึกษาไม่ดีนัก
แต่ยุคปัจจุบัน ประชากรหรือสมาชิกในสังคมเพิ่มมากขึ้นการศึกษามากขึ้น แต่ยังถูกบังคับให้อยู่ในกรอบเก่ากรอบเล็กกรอบเดิม

กรอบโครงสร้างเก่านี้มันถูกวางไว้หมดแล้วว่า
 คนจบ ปริญญาเอก ได้ที่นั่งตรงไหน
 ป.โท นั่งตรงไหน 
ป.ตรี - ป.4 นั่งตรงไหน
 เขากำหนดแล้วว่า ป.เอกพูดเสียงดังสุด ป.4 เสียงเบาสุด ทั้งนี้เนื่องจาก เขาเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน

เอ็ดมันด์ เบิร์ก เจ้าลัทธิอนุรักษ์นิยมและนักวิชาการสายอนุรักษ์นิยม เขาจัดคนไว้ชัดเจนว่าคนไม่เท่ากันคุณภาพของคนไม่เท่ากัน

อนุรักษ์นิยมไม่ศรัทธาการเลือกตั้งหนึ่งคนหนึ่งเสียง เพราะเขาเชื่อว่าคุณภาพคนไม่เท่ากัน เขาจึงเรียกประชาธิปไตยว่า เป็นประชาธิปไตยเชิงปริมาณ 
คือใครมีพวกมากกว่าก็ชนะไปโดยไม่คำนึงว่าคนๆมีประสบการณ์อะไรจบอะไรมาบ้าง

ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผินหลายคนอาจคล้อยตามว่า เป็นจริงเพราะคนมีความรู้ความสามารถไม่เท่ากันจริงๆ

แต่ผมมองเข้าไปลึกยิ่งกว่านั้นอีก เช่น

คนสอบได้เกรด 4 ในห้องเรียนหนึ่งมี 4 คน ทุกคนอาจเชื่อว่า 4 คนนี้เก่งสุด แต่ผมจะมองว่า คนได้เกรด 4 ทั้งสี่คน ต้องได้คะแนนไม่เท่ากันแน่นอน เช่น 1 คนได้ 80คะแนน เขาก็ได้เกรด 4 อีก 1 คนสอบได้ 90 คะแนน เขาก็ได้เกรด 4 ส่วนอีก สองคน นั่งอยู่ใกล้ 2 คนแรก แอบลอกข้อสอบได้เกรด 4 เหมือนกัน คือมันมีรายละเอียดมากกว่าที่ตาเห็นหูได้ยินมา

คนจบ ป.เอก ทางกฎหมาย ไม่มีทางรู้เรื่อง การปกครองดีกว่า คนจบ ป.เอก ทางรัฐศาสตร์การปกครอง ดังนี้เราจะไปสรุปว่าคนจบปริญญาเอก เก่ง หรือโง่กว่ากันไม่ได้ 

ต่างคนต่างเชี่ยวชาญสาขาที่ตนเองเรียนมา ไม่เก่งไม่โง่กว่ากัน แต่เก่งคนละอย่าง โง่อีกหลายอย่าง เราจึงสรุปไม่ได้ว่า คนจบ ป.เอก เก่งกว่าคนจบ ป.4

แม่ครัวหลายคนอาจจบ ป.4 หรือไม่จบเลย แต่เขามีความรอบรู้เชี่ยวชาญในการทำอาหาร ให้คนจบ ป.เอกได้กิน จะพูดว่าคนจบ ป.เอกโง่กว่าคนจบ ป.4 ได้หรือไม่ ที่จบตั้ง ป.เอก แต่ทำอาหารกินไม่เป็น ปลูกข้าวกินไม่เป็น กวาดบ้าน ถูพื้น เก็บขยะ เฝ้ายามไม่ได้

ดังนั้นผมจึงมองว่าทุกคนล้วนมีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญในความรู้เฉพาะด้านเฉพาะตัวของตนเอง ดังนั้นทุกคนเกิดมา ต้องเท่าเทียมกันโดยการเกิดตามกฎเกณฑ์ทางธรรมชาตินี้

ส่วนหน้าที่นั้นเราแตกต่างกันได้

เราจึงควรจัดคนที่มีความสามารถเฉพาะทาง ไปวางไว้ในโครงสร้างทางหน้าที่ให้ถูกตำแหน่งถูกหน้าที่ถูกความสามารถ 

โครงสร้างนี้จึงเปรียบเหมือนร่างกาย

ถ้าเราบอกว่า หัวสำคัญกว่า ตีน เพราะอยู่สูงกว่า ก็ลองเอาตีนไปเหยียบถ่านแดงๆดูว่า ร่างกายทั้งหมดจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือไม่

ถ้าเราคิดว่า ตีนต่ำกว่า ไม่สำคัญ ก็ลองตัดตีนออกดู
ส่วนที่ต่ำสุดต่อมาก็จะเป็นส่วนเข่า ลองตัดเข่าดู
ส่วนที่ต่ำต่อมาก็จะเป็นต้นขา ลองตัดต้นขาดู
ส่วนที่ต่ำต่อมาจะเป็น ส่วนเอว ลองตัดเอวดู
ส่วนที่ต่ำต่อมาจะเป็นลำตัว ลองตัดลำตัวดู
ส่วนที่ต่ำต่อมาจะเหลือแค่หัว แล้วหัวก็จะเป็นส่วนที่ต่ำสุด

สรุปคือ หัว อยู่สูงได้เพราะมีตีน และโครงสร้างของร่างกายส่วนอื่น

ทุกส่วนล้วนมีหน้าที่ของตน

ทุกส่วนทำงานสัมพันธ์กัน อยู่ในโครงสร้างเดียวกัน ทำงานสอดคล้องกันแต่มีหน้าที่ต่างกัน

มือมีหน้าที่หยิบอาหารใส่ปาก 
ฟันมีหน้าที่เคี้ยวบดอาหาร
หลอดอาหารมีหน้าที่ลำเลียงเข้ากระเพาะอาหาร
ทุกส่วนต่างหน้าที่เช่นนี้

เช่นเดียวกับโครงสร้างทางสังคมประชาธิปไตย

ทุกคนมีหน้าที่ต่างกันได้ตามความสามารถ
แต่อย่าใช้หน้าที่นั้นมากล่าวอ้างว่าตนเองอยู่เหนือผู้อื่นหรือสำคัญกว่าผู้อื่น นี่คือประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงเป็น โครงสร้างทางหน้าที่ หรือเป็นวิถีชีวิต ของแต่ละคนที่จะประกอบกิจการงานได้ตามความสามารถของตนเอง เคารพในหน้าที่นั้นๆซึ่งกันและกัน

ภายใต้หน้าที่ที่ต่างกัน แต่เรามี ความเป็นคนเท่าเทียมกัน เป็นมนุษย์ขี้เหม็นเหมือนกัน

พูดแบบชาวบ้านว่า กิน ขี้ ปี้ นอน แล้วก็ตาย เหมือนกัน ไม่มีผู้ใดหลีกหนีได้ซักราย

ทุกคนมีอาณาเขตหรือดินแดน แห่งสิทธิ

คนหนึ่งกราบต้นไม้ เราไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องทำตาม
แต่ทันทีที่เราพูดว่ามึงมันโง่นัก กราบต้นไม้ เราก็ได้ก้าวล่วงเข้าไปในดินแดนแห่งสิทธิของคนอื่นแล้วเช่นกัน

ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรให้เขาเห็นความกระจ่างนี้

ก็ต้องตอบว่าเป็นหน้าทางโครงสร้างส่วนอื่นที่จะกล่อมเกลาชี้นำเขาให้เห็นจริง เช่น 
สถาบันครอบครัว
สถาบันการศึกษา
สถาบันทางศาสนา
นี่คือส่วนที่มีหน้าที่ชี้นำสังคมอบรมกล่อมเกลาในทางที่ถูกต้องให้เขา โครงสร้างส่วนนี้ต้องทำหน้าที่ให้ได้ผลก่อน




 เวลา สามทุ่ม วันที่ 10 เมษายน วันแรกที่เสื้อแดงล้มตายที่เวทีผ่านฟ้า


แล้วที่ถามผมว่ายังแดงอยู่หรือไม่

ผมก็จะถามกลับว่าขึ้นอยู่กับคำว่า แดงนั้นหมายถึงอะไร มีนิยามของคำว่าอะไร

ถ้าแดงเพื่อ นายก.
ถ้าแดงต้อง คล้อยตามแกนนำเท่านั้น
ถ้าแดงหมายถึงเป็นแค่กองเชียร์นักการเมือง
ถ้าแดงหมายถึงเป็นแค่สะพานให้นักการเมืองใช้เหยียบขึ้นสุ่อำนาจ
ถ้าแดงแล้วต้องห้ามคิดต่างคนอื่น
ถ้าแดงแล้วต้องชื่นชมพวกเดียวกันไม่ว่ามันจะเลวแค่ไหน
ถ้าแดงแล้วหมายถึงหุบปากเมื่อเห็นพวกเดียวกันทำผิด

ถ้านิยามมีเท่านี้ ผมตอบได้ทันทีครับว่าผมไม่ใช่แดง

ผมสู้เพื่อเป้าหมาย ไม่ว่าจะสวมเสื้อแดงหรือไม่ ด้วยเหตุผมที่ผมกล่าวมาแล้วแต่ข้างต้นจึงทำให้ผมสู้ถึงแม้ผมจะเจ็บปวดก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น